นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนรายสัปดาห์ วันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๒๕๑ หน้า ๓๖
เมื่อ คุณทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ผมรู้สึกแปลกใจมาก เพราะท่านอายุห่างจากผมพอสมควร คงรอดพ้นจากความเข้าใจคับแคบอย่างนี้ ซึ่งเป็นสมบัติของคนรุ่นผมต่างหาก
ทฤษฎีเรื่องพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นค้นไม่เจอในพระวินัยหรอกนะครับ กล่าวคือ ไม่มีบัญญัติห้ามข้อนี้เอาไว้ ควรหรือไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองต้องไปขึ้นอยู่กับว่าการเมืองแปลว่าอะไร
หรือนี่เป็นประเพณีของคณะสงฆ์ไทยที่มีมาแต่โบราณกาล
พระราชพงศาวดารอยุธยาซึ่งเขียนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์พูดถึงสมเด็จพระพนรัตน์ เข้าไปขอชีวิตไพร่นายที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรไปไม่ทันจนทรงตกอยู่ในวงล้อมข้าศึก และทรงทำยุทธหัตถีจนชนะข้าศึก สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดพระราชทานชีวิตตามที่ขอ
อย่างนี้จะเรียก "การเมือง" หรือไม่ ? คิดเฉพาะเรื่องอำนาจทางการเมืองอย่างเดียวนะครับ เหล่าไพร่นายจำนวนมากรอดชีวิตมาได้เพราะสมเด็จพระพนรัตน์ ฉะนั้น จึงกุมความจงรักภักดีของคนเหล่านั้นไว้ได้อีกนาน จะเอาความจงรักภักดีนี้ไปใช้ในทางไหนก็ได้
ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรหรือไม่ อาจแต่งกันขึ้นเองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ก็ได้ ถึงกระนั้นก็แสดงว่าตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ยังไม่ได้คิดห้ามพระไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง
และอันที่จริงถ้าย้อนกลับไปอ่านหลักฐานฝรั่งในสมัยอยุธยา ก็จะพบการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของพระเยอะแยะไปหมด นับตั้งแต่นักการเมืองบวชเป็นพระเพื่อใช้เป็นฐานแย่งอำนาจ (หรือชิงราชสมบัติ) ไปจนถึงหนีราชภัยไปบวช หรือพระช่วยปกป้องเชื้อพระวงศ์บางองค์ไม่ให้ถูกประหาร
ในปลายสมัยพระนารายณ์ บาทหลวงฝรั่งเศสคนหนึ่งรายงานว่า ภิกษุสงฆ์ที่ลพบุรีถึงขนาดจัดเดินขบวนประท้วงนโยบายเปิดประเทศให้ทหารฝรั่งเศสกันเลย
เมื่อตอนที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ซึ่งได้ใช้กำลังปิดช่องล้อมวงทั้งในพระบรมมหาราชวัง และวังสราญรมย์อันเป็นที่ประทับของพระราชโอรสองค์ใหญ่ไว้เรียบร้อยตามธรรมเนียมโบราณแล้ว) ได้เชิญคนสำคัญของแผ่นดินมาประชุมกัน ได้แก่พระบรมวงศานุวงศ์, ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แล้วยังมีสมเด็จพระราชาคณะด้วย เพื่อจะตัดสินใจเลือกเจ้านายขึ้นครองราชสมบัติต่อไป
จริงอยู่ ในความเป็นจริงแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาฯ มีอำนาจสูงสุด จะเสนอเจ้านายองค์ใดก็องค์นั้น ไม่มีใครกล้าขัด แต่การประชุมเป็นพิธีกรรมทางการเมืองเพื่อสร้างความชอบธรรมทั้งแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ และแก่อำนาจของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เอง แต่ในการประชุมทางการเมืองนั้น กลุ่มคนที่ขาดไม่ได้คือพระ
พระในสังคมไทยได้รับความเคารพนับถือและเชื้อฟังมาก อำนาจทางวัฒนธรรมของพระจึงมีสูง และอำนาจอันนี้ก็อาจถูกบุคคลหรือองค์กรสงฆ์เบนมาใช้ในทางการเมืองได้ ฉะนั้น พระในฐานะบุคคลก็ตาม สถาบันก็ตาม จึงอาจคุกคามอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองได้อย่างน่ากลัว
ปัญหานี้ทุเลาลงในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังการปฏิรูปคณะสงฆ์ พระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงมีพระราชอำนาจเหนือสถาบันสงฆ์และพระภิกษุแต่ละองค์ได้อย่างค่อนข้างเด็ดขาด อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินไทยไม่เคยมีมาก่อน
ผมเดาว่าคติพระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการแผ่นดินแผ่นทรายคงจะเริ่มมีมานับตั้งแต่นี้ แต่การแผ่นดินมีความหมายแคบกว่าการเมือง เพราะหมายถึงเพียงอย่าทำอะไรให้กระทบต่ออำนาจของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จะตัดสินอย่างไรว่าการแผ่นดินอะไรที่ธรรมะไม่ควรเข้าไปเกี่ยว ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ถ้าพระเทศน์ให้จับอาวุธขึ้นสู้กับทหารรัฐบาล อันนี้ผิดทั้งพระวินัยและอาญาบ้านเมืองแน่ แต่ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายที่ขัดต่อหลักพระพุทธศาสนา (เช่น ฆ่าตัดตอนคนที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับยาเสพติด) พระท่านก็เทศน์ชี้โทษของการฆ่า และการแก้ปัญหาโดยขาดความเคารพต่อชีวิต อย่างนี้จะถือว่าเป็นการแผ่นดินแผ่นทรายหรือไม่ ในเมื่อการทำชีวิตให้ตกไปนั้นขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าแน่
ผมเข้าใจว่ารัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่กล้าตัดสินออกมาชัดๆ ในเรื่องนี้ ฉะนั้น จึงมีความพยายามจะหาเหตุผลทางศาสนาให้แก่การกระทำของตนเองเสมอ เพื่อปิดปากพระหรือโน้มน้าวให้พระไม่ต่อต้าน เช่นในสมัย ร.๖ ก็ต้องระดมพระและฆราวาสหลายรูปและคน เพื่อออกมาเขียนหรือพูดเพื่อชี้ให้เห็นว่า การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้นไม่ขัดกับหลักของพระศาสนา รวมทั้งทรงพระราชนิพนธ์เรื่องธรรมาธรรมะสงครามด้วย
พระก็ต่อต้านน้อยหรือแทบจะไม่ได้ต่อต้านเลย จะเป็นเพราะเชื่อหรือกลัวก็ตามเถิด
แต่ประเด็นก็คือ ถึงใจจะคิดอยากห้ามไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับ "การเมือง" ซึ่งเขาหมายความในตอนนั้นคืออำนาจรัฐเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้ห้ามออกมาตรงๆ
ผมเข้าใจว่า คนที่กล้าพูดอย่างนี้ออกมาตรงๆ เป็นคนแรกคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เพราะผมเรียนรู้คตินี้มาจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เนื่องจากเมื่อผมเป็นเด็กนั้นบ้านผมเป็นแฟนหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จึงโตมากับความคิดเห็นแบบสยามรัฐๆ นี่แหละ และรู้สึกแปลกใจที่คนรุ่นหลังจากผมขนาดคุณทักษิณยังถือคติสยามรัฐอยู่ได้ไง
แต่คตินี้เป็นคติที่คับแคบมาก เริ่มจากการนิยามการเมืองก็แคบ เช่นคุณคึกฤทธิ์เองก็เขียนไว้หลายครั้งหลายหนว่า เมืองไทยไม่เคยมีการเมืองจนถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕
ผมไม่แน่ใจว่าท่านจะหมายความอย่างไร เพราะถึงนิยามการเมืองให้แคบเหลือเพียงการแย่งอำนาจกันในระดับสูง ก็ดูเป็นการกล่าวเท็จอย่างหน้าด้านๆ เพราะการแย่งอำนาจกันในระดับสูงนั้นทำกันเป็นปกติในเมืองไทย (ที่จริงในเมืองอื่นๆ ทั่วโลกด้วย) มาตั้งแต่โบราณกาล จารึกสุโขทัย (หลักที่ไม่ปลอม) พูดถึงพระเจ้าลิไทยกกองทัพจากศรีสัชนาลัยมาสุโขทัย แล้วเอา "ขวานประหารประตู" เข้าไปยึดอำนาจจากใครไม่รู้ที่ครองสุโขทัยอยู่เวลานั้น
จะพูดเฉพาะสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์ คือ จาก ร.๕ - ๗ ว่าคนชั้นสูงไม่แย่งอำนาจกันเลย ใครได้เป็นกษัตริย์แล้ว คนอื่นๆ ต่างสยบยอมหมด ก็ไม่จริง ยิ่งถ้าดูระดับต่ำลงมากว่าราชบัลลังก์ เจ้านายในสมัยนั้นขบเหลี่ยมขบคมกันในคณะเสนาบดีอย่างถึงพริกถึงขิง แต่แทนที่จะโค่นอำนาจกันด้วยกำลังอาวุธ ก็โค่นกันด้วยวิธีอื่นที่แนบเนียนกว่าแทน เช่น ใช้ลมเป่าหูเบื้องบน เป็นต้น
ความพยายามของชนชั้นปกครองในการกีดกันพระออกไปจากการเมืองนั้น สรุปให้เข้าใจง่ายๆ จึงเหลือแต่ป้องกันไม่ให้พระไปขัดขวางหนทางแห่งอำนาจของตัวเท่านั้น เช่น ไปทำอะไรที่จะช่วยให้ศัตรูทางการเมืองของตนได้เปรียบ หรือบ่อนทำลายอำนาจของตัว
แต่ถ้าพระจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในทางส่งเสริมอำนาจของเขา อย่างนั้นก็ยุ่งกับการเมืองได้ ไม่เฉพาะแต่คุณทักษิณเท่านั้นที่พอใจเมื่อพระบางรูปพูดสนับสนุนตนเอง ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งไม่อยากให้พระยุ่งการเมืองแผ่นดินแผ่นทราย ก็พอใจหรือส่งเสริมให้พระเทศน์ท้องเรื่อง "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น" เหมือนกัน
อันที่จริง ถ้าพระเข้าไปยุ่งกับการแย่งอำนาจ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายที่ถืออำนาจในมือ หรือฝ่ายที่ต้องการแย่งอำนาจจากมือคนอื่น คำถามที่น่าจะถามก็คือ ยุ่งทำไม ถ้ายุ่งเพื่อตัวจะได้มีส่วนแบ่งของอำนาจบ้าง ก็จริงอย่างที่คุณทักษิณพูด นั่นก็คือ สึกออกมาแย่งอำนาจกันตรงไปตรงมาเลยดีกว่า
เพราะอำนาจของพระควรเป็นอำนาจทางศีลธรรม
แต่เราไม่อาจแยกอำนาจทางศีลธรรมออกไปจากอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรืออะไรอื่นได้ เช่นเดียวกับการแย่งอำนาจทางการเมืองก็มีมิติทางศีลธรรมแฝงอยู่อย่างสำคัญ (ที่การเมืองไทยแย่อย่างนี้ก็เพราะมิตินี้มันแทบไม่ได้แฝงอยู่เลย) เนื่องจากกติกาทางกฎหมายหรือแรงกดดันทางสังคมอย่างเดียวไม่เพียงพอ เป็นต้นว่าการไม่ซื้อเสียงไม่ได้เกิดจาก กกต. ที่เข้มแข็งเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความเลื่อมใสสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรมซึ่งเป็นความรู้สึกทางศีลธรรมทั้งของคนซื้อและคนขายด้วย
เหตุดังนั้น พระจึงควรยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างยิ่ง แต่ยุ่งเกี่ยวเพื่อนำเอาธรรมะเข้าไปสู่การเมือง เช่นเดียวกับพระควรยุ่งเกี่ยวกับการทำธุรกิจ, การสื่อสาร, การบริโภค, การพลังงาน, การศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, กามารมณ์ หรือความสัมพันธ์ทางสังคมทุกชนิด ฯลฯ
เพราะทั้งหมดเหล่านั้นล้วนมีมิติทางศีลธรรมที่เราควรพิจารณาทั้งสิ้น ความเสื่อมโทรมของสิ่งเหล่านั้นในเมืองไทยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราตัดมิติทางศีลธรรมออกไปโดยสิ้นเชิง และพระไม่ค่อยยอมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเอาเลย
เทศนาของท่านจึงลอยอยู่ในสุญญากาศ ฟัง "เอาบุญ" โดยไม่สามารถเอาไปใช้เพื่อให้เกิดบุญที่แท้จริงขึ้นได้
ตรงกันข้ามกับคำปรามของคุณทักษิณ ผมคิดว่าพระควรยุ่งเกี่ยวให้มากกับการเมืองและเรื่องอื่นๆ ในเชิงสังคม แต่ต้องมีสติกำกับว่ายุ่งทำไม แล้วจึงจะรู้ว่าควรยุ่งอย่างไร..